9 มิถุนายน 2566 กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (บร.วศ.), สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ร่วมจัดสัมมนาเชิงวิชาการเนื่องในวันรับรองระบบงานโลกประจำปี 2566 ในหัวข้อ “Accreditation supporting the future of global trade.” ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
บร.วศ. เป็นหน่วยงานหนึ่งในสี่หน่วยรับรองระบบงานของประเทศไทยที่ดำเนินการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชํานาญห้องปฏิบัติการ และผู้ผลิตวัสดุอ้างอิงตามมาตรฐานสากล โดยมีนโยบายการรับรองระบบงานที่มุ่งเน้นการปฏิบัติงานด้วยความเป็นกลาง และทํางานอย่างมืออาชีพ ถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งมีการปรับปรุงระบบงานอย่างต่อเนื่องเพื่อ ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้การดําเนินงานของหน่วยรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งอนาคตได้ปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการจําเป็นต้องพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานสินค้า เพื่อให้สินค้าไทยสามารถ แข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลก การ ตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากห้องปฏิบัติการที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิต ผู้ซื้อและผู้ขายในลักษณะ “Tested once accepted everywhere” คือ ตรวจสอบครั้งเดียวยอมรับทั่วโลก ลดการตรวจสอบซ้ำ ช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ และเป็นการคุ้มครอง ผู้บริโภคให้ได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ
ประเทศไทยยังมีความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพตามการปรับเปลี่ยนของความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภค กฎระเบียบ สภาพแวดล้อม กลไกและรูปแบบของธุรกิจ เพื่อเน้นการสร้างคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการเชิงคุณภาพ โดยมีเป้าหมายการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การพัฒนาต่อไปจึงเป็นการเพิ่มศักยภาพภาคการผลิต รวมถึงเร่งยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการหลักของประเทศให้สอดคล้องกับความ ต้องการของตลาด และการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่มูลค่าโลก
การรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการจึงมีความสําคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งอนาคตตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ใหม่ การบริการ และเทคโนโลยีให้เป็นไปตามมาตรฐานและมีความปลอดภัย ส่งเสริมความยั่งยืนทางธุรกิจขององค์กรต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าและบริการได้มาตรฐานเป็นไปตามข้อกําหนดสากล ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วมการค้ากันได้ง่ายขึ้น และทําให้อุตสาหกรรมขยายตลาดได้กว้างขวาง ดังนั้นการรับรองระบบงานจึงเป็นส่วนสําคัญในการช่วยอํานวยความสะดวกทางการค้าของโลก
การรับรองระบบงานมีบทบาทสําคัญในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDG) ที่เกี่ยวข้องกับการค้า ได้แก่
SDG 1. No poverty – การยุติความยากจน
SDG 2. Zero hunger – การยุติความอดอยาก
SDG 3. Good health and well-being – สุขภาพและ ความเป็นอยู่ที่ดี
SDG 8. Decent work and economic growth – งานที่ดี และเศรษฐกิจที่เติบโต
SDG 9. Industry, Innovation and infrastructure –อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
SDG 10. Reduced Inequalities – ลดความเหลื่อมล้ำ
SDG 14. Life below water – ชีวิตในน้ำ
SDG 17. Partnerships for the goals – ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดังนั้นผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่อพัฒนาระบบคุณภาพของหน่วยงาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ และได้รับการรับรองจากหน่วยรับรองระบบงานที่ได้รับการยอมรับ ร่วมในระดับสากล เนื่องในวันรับรองระบบงานโลก World Accreditation Day หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การรับรองระบบงานของประเทศไทยจะเป็นส่วนที่สําคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างยั่งยืนตาม Theme ในปี 2023 ที่ว่า “Accreditation: Supporting The Future of Global Trade”